ESG คืออะไร?
ESG คือการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาลมาพิจารณาในการวิเคราะห์ คัดเลือก และบริหารการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจและดึงดูดนักลงทุน สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมปัจจัยที่พิจารณาประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือการปล่อยมลภาวะอื่น ๆ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับด้านสังคมมุ่งเน้นการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน มาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขภาพของแรงงาน รวมถึงความสัมพันธ์กับชุมชน ขณะที่ด้านธรรมาภิบาลจะเน้นการกำกับดูแลกิจการให้มีความโปร่งใส มีกลไกการตรวจสอบหรือถ่วงดุล ดำเนินการภายใต้กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เหตุใดบริษัทที่เน้น ESG ถึงได้รับความนิยมมากขึ้นเทียบกับอดีตที่เน้นกำไรของบริษัทเป็นสำคัญ บทวิเคราะห์ของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์หลายแห่งชี้ว่า การลงทุนในบริษัทที่เน้น ESG หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยเน้นความยั่งยืนสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ในระยะยาว
E
Environment
สิ่งแวดล้อม
S
Social
สังคมแห่งคุณค่า
G
Governance
การกำกับดูแลที่ดี
ความสำคัญของ ESG
เพราะการลงทุนกับองค์กร ESG เป็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีความยั่งยืนในอนาคต ให้ความสำคัญและส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการองค์กรที่ดี เมื่อทุกธุรกิจ ESG ได้เปิดเผยผลการดำเนินการอย่างโปร่งใสทุกด้าน มีกระบวนการวัดผลที่ชัดเจนจะสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจ และนักลงทุนอยากเข้าไปร่วมลงทุน เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจโรงงานไฟฟ้า ถ่านหิน มีนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานสะอาด ให้ความสำคัญในการลดภาวะโลกร้อน จากการดำเนินการที่ปฏิบัติให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ก็ทำให้ลูกค้าผู้ใช้บริการหรือนักลงทุน รู้สึกดีอยากใช้บริการและอยากร่วมลงทุน อีกทั้งยังได้ร่วมเติบโตไปกับเทรนในอนาคต ช่วยพัฒนาโลกให้ดีขึ้นด้วย
ผลสำรวจจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก จะเห็นได้ว่าการลงทุนแบบยั่งยืนกำลังมีอิทธิพลในตลาดการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ ESG จะอยู่ในกลุ่ม Sustainable Investing แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ลงทุนแล้วเกิดผลกระทบเชิงบวก ธุรกิจสามารถบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีมาตราฐาน ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ผลประกอบการเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม ESG ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย และยังเป็นเทรนในอนาคตอีกด้วย ซึ่งส่งผลดีทั้งตัวธุรกิจ นักลงทุน และลูกค้า ผู้ใช้งาน โดยกลุ่มหุ้น กองทุนธุรกิจเหล่านี้ในอนาคตจะมีจำนวนมากยิ่งขึ้น บริษัทที่มีการบริหารองค์กรในรูปแบบเน้นความยั่งยืนและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตราฐาน จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน อาจนำมาซึ่งผลตอบแทนที่มากขึ้นสำหรับไทย ESG กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน บริษัทจดทะเบียนหลายรายมีการนำข้อมูลด้าน ESG มาจัดทำรายงานความยั่งยืน (sustainability report) เพื่อเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชน ควบคู่กับรายงานข้อมูลทางการเงิน ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการจัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึง ESG และมีการทบทวนรายชื่อดัชนีทุกครึ่งปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก ทั้งนี้ หากพิจารณาในระดับสากลแล้ว ผลการสำรวจขององค์กรสหประชาชาติด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (UN Global Compact) พบว่ามีบริษัทเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่มีการตรวจสอบและประเมินด้าน ESG อย่างชัดเจน ซึ่งภายในปี 2573 (หรือ ค.ศ.2030) บริษัทที่ไม่มี ESG อาจกลายเป็นบริษัทที่ล้าหลัง หรือไม่สอดคล้องกับมาตรฐานเป้าหมายความร่วมมือด้านความยั่งยืนของโลกที่ประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศรวมถึงไทยได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) การลงทุนที่ยั่งยืน หรือการลงทุนที่คำนึงถึง ESG เป็นอีกหนึ่งกระแสที่สำคัญในอนาคต และเป็นโอกาสของธุรกิจที่มีพื้นฐานและสนใจเรื่องความยั่งยืนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่จะเร่งเครื่องยกระดับ เพื่อให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านนี้ ขณะที่ธุรกิจที่ไม่เคยให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางถึงเล็ก จะต้องเริ่มคำนึงถึง ESG และผนวกเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจและผลักดันให้เป็นวัฒนธรรมหรือค่านิยมขององค์กรต่อไป
การดำเนินงาน
กลุ่ม SCBX ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่องโดยได้ดำเนินโครงการความคิดริเริ่ม การพัฒนาต่อยอดธุรกิจ รวมถึงการลงทุนที่มีโอกาสสร้างการมีส่วนร่วมภายในองค์กร ระหว่างกลุ่มบริษัทและลูกค้า ตลอดจนระบบนิเวศทางธุรกิจ