สำรวจทุกความเป็นไปได้ของ Blockchain และ AI ในโลกธุรกิจยุคใหม่ กับทีม Venture Builder จาก SCB 10X
‘The Road to AI Adoption: Insights for Thai Business’ และ ‘The Frontier of Blockchain Innovation: Exploring Emerging Applications and Innovations’ เพื่อให้คนที่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain และ AI รวมไปถึงเบื้องหลังการทำงานของทีม Venture Builder จาก SCB 10X
ได้ยินมาตลอดว่า ภารกิจ ‘Moonshot Mission’ ของ SCB 10X ยานลูกของ SCBX คือการออกสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้กับยานแม่ ปักธงยุทธศาสตร์ 2 แกน คือ ลงทุนร่วมสร้าง Venture Builder (VB) และ ลงทุนใน Venture Capital (VC) เน้นไปที่ Tech Company และ Start-up ศักยภาพสูงทั่วโลกด้าน Blockchain, Web 3, Metaverse และ Deep Tech เช่น AI/ML
SCB 10X มีบุคลากร องค์ความรู้ และนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้าน Tech & Fintech Expert ที่เชี่ยวชาญและเข้าใจการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเทคโนโลยีการเงิน In-House Tech Capability ที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain, Web 3 และ DeepTech ซึ่งสามารถนำความรู้มาสร้างนวัตกรรมทางการเงินต่อยอดให้กับกลุ่ม SCBX สร้างการเจริญเติบโตให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
ไม่แปลกที่ผ่านมา SCB 10X จะพิชิตไปได้หลายภารกิจ นอกจากผลงานการลงทุนในบริษัท Start-up ชั้นนำทั่วโลก รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Web 3 ระดับโลก เช่น
- Pagaya บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ เพื่อวิเคราะห์และจัดการสินทรัพย์ในสหรัฐฯ
- Fireblocks ยูนิคอร์นระดับโลก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มผู้ให้บริการเทคโนโลยีสำหรับการดูแลความปลอดภัยสินทรัพย์ดิจิทัล
- Nansen แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลบนระบบ Blockchain สำหรับ Web 3
- Ape Board แพลตฟอร์มดิจิทัลชั้นนำสำหรับติดตามข้อมูลและบริหารจัดการการลงทุนในพอร์ตสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งภายหลังถูกเข้าซื้อกิจการและควบรวมโดย Nansen นับเป็นการควบรวมของสองบริษัทภายในพอร์ตโฟลิโอของ SCB 10X, The Sandbox บริษัทผู้สร้างแพลตฟอร์มเกมที่มีฐานอยู่ในฮ่องกง ซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้งานสร้างโลกเสมือนจริง ฯลฯ
ตลอดจน SCB 10X ได้รับการจัดอันดับด้าน Corporate Venture Capital (CVC) ประจำปี 2564 สำรวจและจัดลำดับโดย CB Insights ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการยอมรับระดับโลกที่ได้ติดตามการระดมทุนของ Start-up ต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และจัดลำดับ Corporate Venture Capital (CVC) จากกว่า 2,300 บริษัททั่วโลก SCB 10X ได้อันดับที่ 2 จากการจัดประเภท Global CVC ที่ลงทุนใน Start-up ด้าน Fintech และอันดับที่ 8 จาก CVC ทั่วโลก นับเป็นองค์กรแรกจากประเทศไทยที่ติดอันดับ Top 10 ด้าน CVC ระดับโลก
อีกหนึ่งขาที่มีผลงานโดดเด่นคือ การทำงานของทีม Venture Builder ที่ไม่เพียงมีจุดมุ่งหมายในการสร้าง Start-up ไทยระดับยูนิคอร์นให้เกิดขึ้น ยังมีหน้าที่สร้าง Disruptive Technology ใหม่ๆ ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค การสร้าง Blockchain Lab เพื่อศึกษาและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับ Blockchain อีกทั้งยังส่งเสริมระบบนิเวศในการพัฒนานวัตกรรมผ่านพื้นที่ DISTRICTX Collaborative Space for Blockchain and Web 3 ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนานวัตกรรมและพันธมิตรจากบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกด้าน Web 3 และ Blockchain เข้ามามีส่วนร่วมในชุมชน สร้างเครือข่ายและต่อยอดไอเดียทางธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด ในการยกระดับและช่วยสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ Blockchain และ Web 3 ให้ทัดเทียมนานาชาติ
นอกจากนี้ทีม Venture Builder ยังสามารถส่งทีมงานไปชนะรางวัลการันตีจากเวทีแข่งขัน Hackathon ระดับโลกมากมาย เช่น
- การแข่งขัน Flashbot CTF ได้ตำแหน่ง Top 10 Fastest จากกว่า 300 Searchers และได้รับยกย่องให้เป็น Excellent Open Source Solution to the CTF และ Advancing Open Source Client Libraries for MEV-Share
- รองอันดับ 1 จากการแข่งขัน Delphi Labs Cosmos Hackathon (Osmosis Track)
- รองอันดับ 1 จาก LabLab AI Stable Diffusion Hackathon 2.0 เป็นต้น
เพื่อให้คนที่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain และ AI รวมไปถึงเบื้องหลังการทำงานของทีม Venture Builder จาก SCB 10X ถือโอกาสเข้าร่วมเวทีเสวนาที่จัดขึ้นภายในบูธ AREA x by SCBX ที่งาน Techsauce Global Summit 2023 ที่ผ่านมา และสรุปสาระสำคัญใน 2 หัวข้อ ได้แก่ The Road to AI Adoption: Insights for Thai Business และ The Frontier of Blockchain Innovation: Exploring Emerging Applications and Innovations มาให้อ่านกัน โดยมี อรรณวุฒิ ลีไพศาลสุวรรณา Head of Venture Builder จาก SCB 10X เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในหัวข้อแรก ‘The Road to AI Adoption: Insights for Thai Business’ ได้ ธิบดี ศรีอุฬารพงศ์ Entrepreneur in Residence และ ภัทรเศก จิรบวรวิสุทธิ์ Senior Software Engineer จาก SCB 10X มาฉายภาพให้เห็นว่าจะสามารถนำ AI มาใช้ในธุรกิจไทยได้อย่างไร
AI ไม่ (เคย) ใช่เรื่องไกลตัว
พวกเขาบอกว่า AI เข้ามาอยู่ในชีวิตเรานานแล้ว ใกล้ตัวที่สุดก็เช่น การแก้คำพิมพ์อัตโนมัติเวลาพิมพ์แชตในสมาร์ทโฟน
“ที่ผ่านมาเป็นยุคของ Classical AI แต่ปีนี้เราพูดเรื่อง Generative AI หรือ AI ที่สามารถ Generate ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอได้มากขึ้น” ธิบดีกล่าว
ภัทรเศกเสริมในมุมของธุรกิจ “จะเห็นช่องทางของเทคโนโลยีระหว่างไทยกับต่างประเทศลดลง มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งานจริงในธุรกิจมากขึ้น การมีอินไซต์มาตั้งแต่ยุค Classical AI ทำให้ตอนนี้เราสามารถคาดการณ์สิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและสร้างธุรกิจที่อิมแพ็กต์มากขึ้น เราสามารถจ่ายเงินตาม Kiosk ได้เอง หรือเวลาจอดรถตามอาคารต่างๆ แค่เห็นป้ายทะเบียนก็รู้แล้วว่าคันไหนจ่ายค่าที่จอดรถแล้ว รวมถึงการโต้ตอบระหว่างคนกับ AI ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น”
ธิบดียกเคสการนำ AI มาปรับใช้ในธุรกิจ “ในธุรกิจ E-Commerce เวลาเปิดแอปเราจะเห็นโปรดักต์ที่เรากำลังต้องการขึ้นมามากมาย ถ้า YouTube หรือ Netflix ตัว AI จะมาช่วยแนะนำซีรีส์หรือคอนเทนต์ที่ประมวลผลจากพฤติกรรมของแต่ละบุคคล จุดที่น่าสนใจคือ การใช้ Generative AI เข้ามาช่วยในกระบวนการการทำงานของธุรกิจ เช่น สร้างแคมเปญการตลาด ปรับแต่ง SEO หรือยิง Ads
“ที่สำคัญคือ การพัฒนาในส่วนของฟีเจอร์ต่างๆ จากที่ใช้เวลานานๆ Generative AI จะช่วยลดระยะเวลาการพัฒนาฟีเจอร์และปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน ธิบดีบอกว่า “ข้อจำกัดที่ยังต้องพัฒนาคือ การใช้ ChatGPT เป็นการป้อนคำถามเพื่อให้หาคำตอบ คำถามคือ เบื้องหลังตัว ChatGPT หรือ Generative Model มันคืออะไร สิ่งนี้ยังเป็นปริศนา การที่เราทำให้ AI มีการคิดหรือพัฒนาด้วยตัวมันเอง จะทำให้ผู้ใช้งานป้อนความต้องการหรือเจตนาที่แท้จริง ไม่ใช่แค่ป้อนคำถาม เช่น อยากทำแคมเปญการตลาดให้ดีขึ้นด้วยงบประมาณเท่านี้ AI ต้องตอบได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง”
นำ AI เข้ามาใช้ในธุรกิจ
ภัทรเศกบอกว่า ในทุกธุรกิจ AI สามารถเข้าไปอยู่ได้ในทุกกระบวนการ แต่สิ่งที่เขาแนะนำคือ ก่อนจะเอา AI เข้ามาใช้ หาให้เจอก่อนว่าอะไรคือ Pain Point ของธุรกิจคุณ จากนั้นลองศึกษาว่ามีธุรกิจใกล้เคียงกันเคยทำ AI มาใช้แก้ปัญหาอย่างไร
“จุดที่ยากที่สุดของการนำ AI เข้ามาใช้ในธุรกิจคือ การสร้างความเข้าใจให้กับคนในองค์กร ทุกคนต้องมองภาพเดียวกันว่า AI เป็นเครื่องมือ และต้องเข้าใจว่าใช้อย่างไร ซึ่งบริษัทที่อยู่มานานมีกระบวนการทำงานในแต่ละส่วนที่เป็นเอกเทศอาจยากสักหน่อย ดังนั้นอาจต้องเริ่มที่การสร้างความรู้ให้กับบุคลากรก่อน ถ้าเอา AI เข้ามาแต่ใช้ไม่เป็น สุดท้ายมันก็ติดขัดหรือใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ”
เมื่อถามถึงความเสี่ยงที่ต้องเจอ ภัทรเศกบอกว่า “ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกเทคโนโลยีตัวไหน ถ้าเป็นเทคโนโลยีที่ Mature คือถูกนำไปใช้จริงและมีผู้ใช้จำนวนมาก และถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็จะมีความเสี่ยงที่ต่ำ แต่ถ้าเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่และมีจำนวนผู้ใช้ไม่มากที่อาจจะยังไม่ Mature มาก ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ChatGPT ซึ่งต้องบอกว่ายังเสี่ยงที่จะได้คำตอบที่ผิดบ้าง ถูกบ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้ไม่เข้าใจการทำงานของมันมากพอ ก็ไม่มั่นใจอีกว่ามันตอบผิดในเคสไหน คำแนะนำคือ ธุรกิจหรือผู้ใช้ควรมีการอบรมและพัฒนาทีมงานให้พร้อมกับการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ และลองนำ AI มาประยุกต์ใช้กับเนื้องานที่ AI ทำได้ดี เช่น ค้นหาไอเดียใหม่ๆ หรือเขียนประโยคที่ต้องการความถูกต้องทางภาษาและตรงประเด็นการสื่อสาร
“อย่างไรก็ตาม ควรมีกระบวนการตรวจสอบสิ่งที่ AI ได้สร้างสรรค์และนำเสนอออกมา ผสานกับความเชี่ยวชาญด้านเนื้องานจากผู้ใช้ เพราะบางโมเดลของ AI เช่น ChatGPT ออกแบบมาให้เดาคำตอบที่ฟังดูเป็นไปได้มากที่สุด และมันยังเก่งมากเรื่องการสร้างภาษามาให้ดูดี ต่อให้มันเดาคำตอบก็สามารถสร้างโครงสร้างประโยคที่ดูมันน่าเชื่อถือได้”
AI พร้อมใช้ในธุรกิจไทยหรือยัง?
ธิบดีมองว่า ต้องพิจารณาเป็นเทคโนโลยี หรือบางแอปพลิเคชันได้มีการนำ AI หรือโมเดล ที่เกี่ยวกับ AI ที่ Mature แล้วไปประยุกต์ใช้ ก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี แต่ในกรณี ChatGPT อาจยังมีข้อผิดพลาดเรื่องคำตอบที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง เนื่องจากอยู่ในช่วงของการนำมาใช้ในวงกว้างและอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา
ดังนั้นผู้ใช้จะต้องใช้อย่างระมัดระวัง และต้องเข้าใจว่าการใช้งานของเราเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีให้แม่นยำขึ้น จึงไม่สามารถเชื่อผลลัพธ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงข้อจำกัดของ LLM ในการเข้าใจบริบทของภาษาไทยที่หลายองค์กรพยายามแก้ไขอยู่
ภัทรเศกเสริมว่า “LLM ภาษาไทยอาจไม่แม่นเท่าภาษาอังกฤษ เนื่องจากโมเดลภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและพัฒนาไปล่วงหน้ามากแล้ว ในกรณีของภาษาไทยก็พอใช้ได้ แต่ต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดของมันและใช้มันในขอบเขตที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น ใช้ภายในองค์กรที่สามารถเช็กข้อเท็จจริงได้ แนะนำให้เทรนคนของธุรกิจให้เข้าใจข้อจำกัดด้วย ถ้าได้คำตอบมาให้ลองเช็ก อย่าเพิ่งเชื่อและนำไปใช้เลย การเทรนคนให้เข้าใจเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญ ทำให้เรานำมาปรับใช้ได้เร็วและใช้งานได้มีประสิทธิภาพกว่าคู่แข่ง”
สำหรับหัวข้อ ‘The Frontier of Blockchain Innovation: Exploring Emerging Applications and Innovations’ อรรณวุฒิชวน วราณัฐ สุทธิการณ์ Software Engineer และ ณัฐภูมิ ตุลยอนุกิจ Growth Specialist จาก SCB 10X มาเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ Blockchain
วราณัฐเล่าถึงเหตุการณ์ที่อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่า Blockchain กำลังจะตาย เริ่มขึ้นหลังจากที่มีข่าวการดำเนินธุรกิจไม่โปร่งใสของ FTX จนเกิดความสั่นคลอนของราคาเหรียญ FTT ให้ผันผวนอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อแพลตฟอร์ม FTX จนนำไปสู่การแห่ถอนเงินและสินทรัพย์ออกจากแพลตฟอร์มจนต้องหยุดให้บริการ แน่นอนว่าการที่กระดานเทรดคริปโตรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งมี Temasek และ Softbank เป็นผู้ร่วมลงทุนกำลังจะหายไป ยิ่งทวีความไม่ไว้วางใจใน Blockchain เพิ่มมากขึ้น
รวมไปถึงคดีฟ้องร้องที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) ยื่นฟ้อง Binance และ Changpeng Zhao (CZ) เนื่องจากมีส่วนร่วมในเครือข่ายการหลอกลวง, ความขัดแย้งทางผลประโยชน์, การขาดการเปิดเผยข้อมูล และการหลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือกรณีที่ EthereumPoW ถูกแฮ็ก Smart Contract ครั้งแรก
“เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ TVL (Total Value Locked) ค่อยๆ ไหลออก เพราะคนไม่เชื่อถือแล้ว คนในระบบ Blockchain ที่หมุนเวียนอยู่ก็ค่อยๆ ลดไปด้วย”
แต่ถ้าพลิกเหรียญอีกด้าน ณัฐภูมิชวนมองภาพกว้างว่า ยังมีเทรนด์และแนวโน้มที่ดีเกิดขึ้นกับ Blockchain จากการที่ Regulator ในหลายประเทศเข้ามาตรวจสอบการพัฒนาและการนำ Blockchain มาประยุกต์ใช้มากขึ้น ทำให้องค์กรขนาดใหญ่เริ่มเชื่อมั่นและเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งการลงทุนและการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปประยุกต์ใช้ เช่น Hongkong Crypto Regulation ได้ให้ไฟเขียว กลับมาเปิดให้นักลงทุนสามารถซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลกันได้, การที่ Ripple ชนะคดีต่อ SEC หลังผู้พิพากษาตัดสินว่า XRP ไม่ใช่หลักทรัพย์ หรือ Securities รวมถึงการที่ HSBC ธนาคารยักษ์ใหญ่ทางด้านการเงิน เปิดตัวกองทุน ETF ที่ให้นักลงทุนสามารถซื้อ-ขาย Bitcoin และ Ethereum ผ่านแอปพลิเคชัน หรือ Coinbase แพลตฟอร์มคริปโตแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา ได้รับการอนุมัติจาก National Futures Association (NFA) สามารถซื้อ-ขาย Bitcoin กับ Ethereum ได้
Blockchain หนึ่งในตัวการทำโลกร้อน?
กระแสข่าวที่บอกว่า Blockchain ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการการประมวลผลมหาศาล ซึ่งเกิดจากกระบวนการแบบ Proof of Work ทางแก้คือ เลิกใช้และหันมาใช้กระบวนการ Proof of Stake แทน
Proof of Stake เป็นการเปิดโหนด (Node) ซึ่งหมายถึงคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย Blockchain โดยโหนดแต่ละโหนดก็จะแทนคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง แล้วเอาเงินเข้าไปอยู่ในนั้น และเลือกโดยมีเกณฑ์การเลือกแตกต่างกันในแต่ละ Blockchain อาจสุ่มเลือก เลือกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสัดส่วนถือสกุลเงินนั้นๆ มาก หรืออาจเลือกจากระยะเวลาที่คอมพิวเตอร์คงอยู่ในระบบ และเลือกจากคอมพิวเตอร์ที่มีการฝากเหรียญสูงๆ เป็นตัวยืนยันธุรกรรม
Proof of Stake ไม่ต้องใช้กำลังประมวลผลเหมือน Proof of Work คนที่เคยมองว่า Blockchain ทำให้โลกร้อนก็แฮปปี้
กรณีศึกษาการใช้ Blockchain สร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจ
ณัฐภูมิเล่าภาพกว้างให้เห็นว่า แบรนด์ดังระดับโลกมากมายที่เราคุ้นหู ไม่ว่าจะเป็น Gucci, Starbucks, ZARA, Nike และอื่นๆ อีกมากมาย นำ Blockchain เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ Branding หรือ Marketing อาทิ ระบบ Loyalty Program เป็นต้น
“ผมขอยกเคสของ Reddit แพลตฟอร์มออนไลน์ประเภทเว็บบอร์ดจากสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เขาทำคือการนำ Blockchain ไปนำเสนอเป็น Collectible Avatars งานศิลปะโดยศิลปินอิสระ โดยเก็บไว้บน Blockchain Polygon (MATIC) เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงกระบวนการต่างๆ ซื้อ-ขายผ่าน Vault ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย Blockchain ที่เข้ากันได้กับ Ethereum อย่าง Polygon นี่คือตัวอย่างการดึง Blockchain มาปรับใช้ ฝั่งผู้ใช้งานก็ได้ประสบการณ์การใช้งานใหม่ๆ โดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาใช้อยู่คือ Blockchain
“หรือธุรกิจเกม เคสของ MapleStory ก็น่าสนใจ เขาสร้างแคมเปญที่ชื่อ ‘MapleStory Universe’ โดยนำสินทรัพย์บนเกมที่คนใช้ซื้อหรือเทรดกันไปใส่ไว้ใน Blockchain และสร้าง NFT Marketplace ให้คนมาซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนไอเท็มภายในเกมผ่านระบบของเขา”
ก่อนปิดจบงานเสวนา วราณัฐและณัฐภูมิได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มการพัฒนา Blockchain และ Use Case ที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการมี DVT เทคโนโลยีบัญชีแยกประเภทแบบกระจายอำนาจ และจำกัดว่าใครสามารถใช้และเข้าถึงได้ รวมทั้งใครบ้างที่สามารถทำงานเป็นโหนดได้ หรือการเกิดขึ้นของ ‘Blockchain Layer 2’ (L2) มาช่วยรองรับการทำธุรกรรมได้มากกว่า เร็วกว่า และค่าธรรมเนียมถูกกว่า นั่นหมายถึงโอกาสที่หลายธุรกิจจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ก็มีมากขึ้น
ใครที่อยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AI และ Blockchain รวมทั้งความเคลื่อนไหวในภารกิจต่างๆ ของทีม SCB 10X กิจกรรมต่างๆ ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมได้ รวมถึงร่วมงานกับทีม SCB 10X สามารถติดตามได้ที่:
- Facebook: https://www.facebook.com/SCB10X/
- Twitter: https://twitter.com/SCB10X_OFFICIAL
- LinkedIn: https://www.linkedin.com/company/31564159/