งาน SCBX Unlocking AI EP 9: Advancing ThaiLLM Development and Applications นอกจากอัดแน่นไปด้วยการบรรยายถึง LLM ในแง่มุมที่น่าสนใจ ยังมีการเสวนาปิดท้ายด้วย ชื่อเดียวกับธีมงานเลยนั่นคือ Advancing Thai LLMs and Their Applications
งานนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การศึกษาและพัฒนา LLM ในระดับชาติและในระดับโลก ประกอบด้วย ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ Vice President, AiAT & Director of Artificial Intelligence Research จาก NECTEC, ศ.ดร.สรณะ นุชอนงค์ Director of VISTEC-depa, อ.ดร.เอกพล ช่วงสุวนิช จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณวีรินท์ ฉันทโรจน์ AI Transformation Lead จาก InnovestX
โดยมี ดร.ฐิติพัทธ อัชชะกุลวิสุทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นพิธีกร
สาระสำคัญของการเสวนาครั้งนี้มีเรื่องอะไรน่าสนใจบ้าง SCBX สรุปมาแล้วดังนี้
1. คุณวีรินท์ บอกว่า LLM สามารถเอามาใช้ในแวดวงการเงินได้หลายอย่าง นอกจากเอามาประมวลข้อมูลช่วยในการลงทุน ยังสามารถเอามาช่วยแก้หนี้เสียของผู้บริโภค, ลดค่าใช้จ่าย, ลดความเสี่ยง และช่วยปรับ Customer Experience ให้ดีขึ้นได้ เป็นต้น
2. ส่วน ดร.เอกพล เล่าว่า LLM สามารถเอาไปใช้ในแวดวงวิชาการได้หลายอย่าง เพื่อดูแลนิสิตนักศึกษาให้ดีขึ้น พร้อมยกตัวอย่างว่าปัจจุบันมีจำนวนนิสิตในคณะเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่จำนวนอาจารย์ผู้สอนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนเท่ากัน เขาจึงทดลองเอา LLM มาช่วยงาน เช่น เอามาช่วยตรวจข้อสอบด้วย
3. แต่พอลองเอามาตรวจข้อสอบก็พบว่า LLM ไม่ได้ให้คำตอบที่เที่ยงตรงมากเมื่อเทียบกับการตรวจเองด้วยมนุษย์ หากเอามาใช้อาจทำให้เกรดของนักศึกษาคลาดเคลื่อนได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า ในอนาคตจะสามารถพัฒนาระบบที่มีความเที่ยงตรงขึ้นมาช่วยงาน และแบ่งเบาภาระของคณาจารย์ได้อย่างไร
4. ดร.เทพชัย เสริมว่าใน NECTEC เองก็เอา LLM มาใช้เช่นกัน แต่ใช้กับงานง่ายๆ เช่น เอามาใช้เป็น Chatbot คอยตอบคำถามเกี่ยวกับกฎระเบียบขององค์กร อาทิ วันหยุด วันลา สวัสดิการพนักงาน ซึ่งบางทีเขาก็ลองปรับเปลี่ยนวิธีคำถามให้ยากขึ้น อาจใส่สถานการณ์ที่ซับซ้อนเข้าไปเป็นตัวแปรเพื่อทดสอบว่า มันสามารถตอบคำถามที่พลิกแพลงไปจากที่เรียนรู้ได้แค่ไหน
5. ส่วน ศ.ดร.สรณะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้กำลังช่วยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝึกฝน LLM เพื่อให้ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักกฎหมาย ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่ฝึกให้มันเป็นทนาย เพราะยังไม่สามารถมั่นใจและพึ่งพาคำตอบของมันได้เต็มที่ว่ามีความเที่ยงตรงมากกว่าหรือเท่ากับการวินิจฉัยคดีของมนุษย์ ทำให้บทบาทของ LLM ในการเป็นผู้ช่วยนักกฎหมายตอนนี้จะยังจำกัดอยู่แค่การช่วยหาข้อมูล ช่วยสรุปข้อกฎหมาย และคาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะนำเดโม่สาธิตการใช้งานออกมาให้ทุกคนได้รับชมกัน
6. อีกสิ่งที่ ศ.ดร.สรณะ เน้นย้ำก็คือ คนทั่วไปยังเข้าใจผิดกันอยู่ว่า เราสามารถเอา LLM มาใช้งานเป็น Database สำหรับสืบค้นข้อมูลกันจริงๆ ได้เลย ซึ่งไม่ใช่ เพราะอย่าลืมว่าข้อมูลที่ได้ยังมีความคลาดเคลื่อน ผิดไปจากข้อเท็จจริงอยู่ หากใครจะใช้งานมันเป็นฐาน Database ต้องมีความเชี่ยวชาญจริงๆ ต้องรู้ว่าข้อมูลที่มันให้นั้นถูกหรือผิด และต้องตรวจสอบข้อมูลของมันอยู่เสมอด้วย
7. ดร.เทพชัย บอกว่าการจะมี LLM ที่ดีที่ให้ข้อมูลถูกต้อง จำเป็นต้องมาจากการให้เรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานที่ดีด้วย แต่เขายอมรับว่าปัจจุบันยังมีไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถฝึกฝน LLM แล้ว Fine Tuning คำตอบออกมาได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ดังนั้นหากต้องการเห็นแวดวง AI พัฒนามากขึ้น ก็จำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างบุคลากรขึ้นมาเพื่อช่วยยกระดับวงการให้มากขึ้นด้วย
8. คุณวีรินท์ ยืนยันว่าการหาคนมาเสริมทีม AI Engineer นั้นยากจริงๆ ในกรณีของ InnovestX เจอปัญหาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยที่มีผลมากๆ ก็คือสภาพของตลาดหุ้นประเทศไทยเองที่ตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นช่วงขาขึ้น ทำให้ผู้คนสนใจข้อมูลจากหุ้นไทยน้อยลง แล้วพอคนสนใจน้อย เม็ดเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนให้วงการเติบโตก็น้อยลงไปด้วย ไม่สามารถพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพได้
9. ปัญหาเรื่องคนยังส่งผลให้ชุมชนของผู้คนในวงการพัฒนา AI ยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควรคือเรื่องใหญ่ที่ทุกคนล้วนเจอ ดร.เอกพล เล่าว่าเคยเจอคนจากหลายองค์กรที่พยายามศึกษาและพัฒนา LLM ด้วยตัวเอง แต่พอต้องเรียนรู้เองก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องเสียค่าลองผิดลองถูกที่แพงมาก นั่นทำให้เขายิ่งเห็นความสำคัญของงานเสวนาอย่าง SCBX Unlocking AI ว่าสามารถนำผู้คนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันมาเจอกัน แล้วนำไปสู่การพัฒนาสิ่งที่ดีขึ้นพร้อมกันได้ และเราควรต้องมีพื้นที่แบบนี้เพิ่มขึ้น หากต้องการให้แวดวง AI พัฒนาขึ้นจริงๆ