“อาทิตย์” เป็นผู้ขับเคลื่อนยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” ที่เริ่มตั้งแต่ 22 ก.ย.2564 มาพร้อมกับยานลูกนับสิบลำ เพื่อปฏิบัติภารกิจใหม่ให้เป็นมากกว่า “ธุรกิจธนาคาร” ไปสู่ยานแม่ที่พร้อมสร้าง “ยานลูก” เพื่อสร้างการเติบโตอย่างไม่หยุดยั่งในโลกอนาคต
การขับเคลื่อนยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” จุดเริ่มต้นมาจาก “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ในฐานะกัปตันยานแม่ ที่จุดเริ่มต้นเขาเชื่อว่า “การสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรที่ยั่งยืนไปใน Generation ข้างหน้า ไปในอนาคต สูตรสำเร็จ หรือ Key Success จะใช้แบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป”
จึงนำไปสู่ การปักธงในการขับเคลื่อนองค์กรของกลุ่ม SCBX ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ยานแม่” เพื่อสร้างการเติบโตยั่งยืนระยะยาว ให้นำพากลุ่ม SCBX เพื่อก้าวสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“เป้าหมายสำคัญของ SCBX คือ การนำพาองค์กรสู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาคที่น่าชื่นชม ซึ่งการจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีได้นั้นนอกเหนือจากการพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจแล้วต้องให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้าง และนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท และบริษัทในกลุ่ม SCBX เพื่อให้กำหนดทิศทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน”
การเปลี่ยนองค์กรกว่า 100 ปี จากธนาคารไทยพาณิชย์ มาสู่ “เอสซีบี เอกซ์” แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็ทำให้เกิดขึ้น และเห็นผลแล้วในหลายด้าน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน และเรียกว่า “เอสซีบี เอกซ์” น่าจะเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วย “นวัตกรรม” ใหม่ๆ มากมาย เพื่อให้องค์กรพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล
นวัตกรรมในที่นี้ คงอาจหมายถึง ทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ บริการทางการเงินเริ่มมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เพื่อเปิดโอกาสให้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะง่ายขึ้น และมีความเชื่อมโยงถึงกันแบบแทบไร้ขีดจำกัด รวมไปถึงการมีแพลตฟอร์มดิจิทัล และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น บล็อกเชน เอไอ ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ทั้งยังมุ่งมั่นสร้างกลุ่มธุรกิจที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ต่อยอดจากธนาคารที่มีความแข็งแกร่งไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ด้วยศักยภาพด้านเทคโนโลยี และการใช้ฐานข้อมูลอย่างชาญฉลาด เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้าในยุคดิจิทัล
ด้วยการเป็นผู้นำในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจการเงินในโลกแห่งอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมเพื่อการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค และศักยภาพทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่ “เอสซีบี เอกซ์” ให้ความสำคัญ ตอกย้ำการเป็นผู้นำที่ใช้ “นวัตกรรม” ใหม่ๆ มาขับเคลื่อนองค์กรอย่างต่อเนื่อง คือ การปักหมุดองค์กรเพื่อให้เกิด “เมล็ดพันธุ์ดิจิทัล” ใหม่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งการพัฒนา และนำนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทั้งในกลุ่มธุรกิจธนาคาร ธุรกิจการเงินดิจิทัล และสินเชื่อเพื่อรายย่อย รวมถึงธุรกิจแพลตฟอร์ม และเทคโนโลยี (Platform and Technology Business) ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น CardX ที่พัฒนำ AI-Augmented Collector Agent ที่ประเมินการโทรศัพท์ติดตามหนี้เพื่อให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการ และช่วยลดขั้นตอนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือ AutoX ที่นำแอปพลิเคชัน “AI Chaiyo” มาช่วยปรับปรุงการสนทนากับลูกค้าในการขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ
ที่กล่าวถึงเป็นเพียงตัวอย่างเพียงเล็กน้อย และเชื่อว่า ยังมีอีกหลายมาตรวัดที่สะท้อนความสำเร็จของ “เอสซีบี เอกซ์” ที่ขับเคลื่อนโดยผู้นำที่แข็งแกร่งอย่าง “อาทิตย์” ที่พร้อมพายานแม่ลำนี้ทะยานสู่โลกที่ไร้ขีดจำกัดอย่างไม่มีสิ้นสุดต่อไป
“อาทิตย์” กล่าวในงานรับรางวัลว่า รู้สึกดีใจ และขอบคุณ ที่มองเห็นถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้ ‘เอสซีบี เอกซ์’ ผ่านการขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และทำให้ภาคอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคารสามารถก้าวไปข้างหน้าได้
โดยความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี การปรับองค์กรเพื่อเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะ AI มาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการลูกค้า มาเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนอง ให้ตรงกับความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนไป และสร้างความสามารถเพื่อให้มีต้นทุนในการให้บริการที่ต่ำลง
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ในกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ก็ได้มีการเอาเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้กับทุกบริษัทในกลุ่ม โดยจะเห็นการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป และหวังว่าจะทำให้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ สามารถก้าวเป็น Financial Technology Group อย่างที่ตั้งใจไว้
สำหรับเกณฑ์การพิจารณานอกจากเกณฑ์ Common Criteria ที่มีสัดส่วนคะแนน 50% แล้วยังมีเกณฑ์พิจารณา Innovative CEO อีก 50% แบ่งเป็นการพัฒนา และการใช้นวัตกรรม 25% และการเชื่อมโยงนวัตกรรมภายใน และภายนอกองค์กร 25%
ข่าวจากกรุงเทพธุรกิจ