“กลุ่มไทยพาณิชย์” เดินเครื่องนำยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” เข้าตลาดหลักทรัพย์
“กลุ่มไทยพาณิชย์” เดินเครื่องนำยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” เข้าตลาดหลักทรัพย์ สร้างการเติบโตระยะยาว ประกาศทำเทนเดอร์แลกหุ้น “SCB” เป็น “SCBX” เริ่มวันที่ 2 มีนาคม 2565
“กลุ่มไทยพาณิชย์” เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กร ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินและโครงสร้างการถือหุ้น มุ่งสร้างการเติบโตและมูลค่าในระยะยาว รับบริบทโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” (SCBX) ประกาศทำคำเสนอซื้อ หรือ Tender Offer หุ้นทั้งหมดของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กับผู้ถือหุ้นของSCB เพื่อแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของ SCBX ในอัตราการแลกหลักทรัพย์เท่ากับ 1 หุ้นสามัญของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBXและ 1 หุ้นบุริมสิทธิของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX โดยจะเริ่มกระบวนการแลกหุ้นได้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 18 เมษายน 2565 เพื่อเตรียมนำ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพิกถอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ออกจากตลาดในวันเดียวกัน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หลังได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของธนาคารฯ เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ได้มาถึงกระบวนการแลกหุ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์ “SCB” เป็น “SCBX” และนำหุ้น “SCBX” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่มไทยพาณิชย์ เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินที่มีศักยภาพสูง และธุรกิจแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ มุ่งยกระดับองค์กรสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด และสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนและแข็งแรงให้กับผู้ถือหุ้นต่อไปในระยะยาว”
กระบวนการแลกหุ้นในครั้งนี้ SCBX จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารในอัตรา 1 หุ้นสามัญของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX การแลกหุ้นดังกล่าวจะไม่ได้เป็นไปโดยอัตโนมัติ แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่ผู้ถือหุ้นของ SCB ได้ทำการ “ตอบรับ” คำเสนอซื้อหลักทรัพย์แล้วเท่านั้น และเมื่อกระบวนการแลกหุ้นแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565 และเมื่อผู้ถือหุ้น SCB ตอบรับคำเสนอซื้อมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ SCB หุ้น “SCBX” จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะยังใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “SCB” เช่นเดิม และผู้ถือหุ้น SCB ที่ได้ทำการแลกหุ้นได้สมบูรณ์ตามกำหนดเวลาจะเปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้น SCBx แทน ส่วนผู้ถือหุ้นของ SCB ที่ไม่ได้ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในเวลาที่กำหนดจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารต่อไป อย่างไรก็ตามหลักทรัพย์ของธนาคารจะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ในวันที่หลักทรัพย์ของ SCBX เข้าจดทะเบียน
“เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพและความคล่องตัวในการเติบโตของธุรกิจภายใต้กลุ่มไทยพาณิชย์ในหลายด้าน รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในการทำธุรกิจของกลุ่มฯ ให้สามารถขยายและพัฒนาธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตได้อย่างเต็มที่ มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มไทยพาณิชย์โดยรวม และจะนำไปสู่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากการดำเนินงานของธุรกิจที่โอนย้ายไปยัง SCBX รวมถึงธุรกิจใหม่ในอนาคตในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตและมีศักยภาพสูง” นายอาทิตย์ กล่าวเสริม
สรุปข้อมูลการตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ SCB
ระยะเวลารับซื้อ | ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 16.00 น. ของวันที่ 2 มีนาคม 2565 ถึง วันที่ 18 เมษายน 2565 (เฉพาะวันทำการ) หรือระยะเวลาทำการของแต่ละช่องทางรับยื่นแบบตอบรับคำเสนอซื้อ รวมทั้งสิ้น 30 วันทำการ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวอาจขยายเวลารับซื้อได้อีก |
ตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agents) | – บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) – บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน ภัทร จำกัด (มหาชน) (KKPS) – บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) (BLS) – บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (ASP) |
สถานที่ติดต่อในการยื่นแบบตอบรับคำเสนอซื้อ | 1. กรณีผู้ถือหุ้นมีใบหุ้น (scrip) ติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ (สำหรับผู้ถือหุ้นประเภทบุคคล) หรือ Investment Center (สำหรับลูกค้า SCB Wealth) หรือตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agents) ได้แก่ SCBS, KKPS และ BLS (สำหรับผู้ถือหุ้นประเภทบุคคลและนิติบุคคล) ข้างต้นหมายเหตุ: ขอความร่วมมือให้ผู้ถือหุ้นยื่นแบบตอบรับ ภายในวันที่ 5 เมษายน 2565 หรือล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันทำการก่อนวันสุดท้ายของระยะเวลารับซื้อ เนื่องจากตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ต้องนำใบหุ้นไปตรวจสอบและฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ 2. กรณีผู้ถือหุ้นที่ไม่มีใบหุ้น (scripless) (เช่น มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์) ติดต่อได้ที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ท่านมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์นั้นให้บริการรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ 3. กรณีฝากหุ้นไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในบัญชีของผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer Account) สมาชิกเลขที่ 600 |