AI Empowerment: Elevating Tomorrow’s Leaders and Creators จากงานสัมมนา SCBX Unlocking AI

: AI Empowerment: Elevating Tomorrow’s Leaders and Creators จากงานสัมมนา SCBX Unlocking AI

AI Empowerment: Elevating Tomorrow’s Leaders and Creators จากงานสัมมนา SCBX Unlocking AI

SCBX Unlocking AI Ep.11 - Elevate Your Game: AI Tools for Modern Works - Panel discussion

Key Highlights

  • AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ให้เร็วขึ้น แต่การพัฒนาทักษะมนุษย์ยังคงสำคัญ เช่น การเขียน การคิดเชิงสร้างสรรค์ และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีคุณค่าในการทำงานและการทำธุรกิจ
  • การใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพต้องรู้จักเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม ต้องเรียนรู้การเขียน Prompt ให้ชัดเจน
  • การใช้ AI สร้างคอนเทนต์มีความเสี่ยงในการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว บางแพลตฟอร์ม AI อาจใช้ข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น ผู้ใช้งานต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลและคำนึงถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนนำคอนเทนต์ไปใช้ในเชิงพาณิชย์

ในยุคที่ AI ก้าวกระโดด เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์จะตกงาน? คำตอบอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด!

งาน SCBX Unlocking AI Ep.11 – Elevate Your Game: AI Tools for Modern Works ได้รวมตัวผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากวงการ Data Analytics และธุรกิจ มาชวนถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันภายใต้หัวข้อ AI Empowerment: Elevating Tomorrow’s Leaders and Creators พร้อมแบ่งปันวิธีใช้ AI เสริมพลังให้นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่

สำหรับใครที่พลาดการเสวนาครั้งนี้ไป SCBX ขอสรุปสาระสำคัญมาฝากกันดังนี้

AI ในชีวิตประจำวัน: จำเป็นจริงหรือ?

คุณเอ วรวิสุทธิ์​ ภิญโญยาง Co- founder ของ ImpactMind.ai และ Insiderly.ai เผยว่าการทำงานในชีวิตประจำวันช่วงนี้ เขาใช้ AI ถึง 50% ในการทำงานทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้กับงานรูทีน หรืองานที่มีความจำเจ งานที่อาจต้องใช้เวลามากกว่าปกติ 

เพราะพอใช้ AI ทำงานเหล่านี้แทน ช่วยให้เขามีเวลาไปทำอย่างอื่นได้เยอะขึ้น สามารถติดตามข่าวสารในแวดวง AI ได้มากขึ้น และมีเวลาโฟกัสกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมามากขึ้น

ส่วน แอดทอย คุณกษิดิศ สตางค์มงคล จาก DataRockie และผู้จัดการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลของ Samsung ให้ทัศนะว่า เขาชื่นชอบการทำงานต่างๆ ด้วยตัวเองมากกว่า โดยเฉพาะงานเขียน งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่อาจไม่จำเป็นต้องอาศัยความเร็วมาก แต่มันช่วยเติมเต็มความสามารถ และทำให้รู้สึกว่ามีคุณค่ามากขึ้น 

เพราะการลงมือเขียนงานเองช่วยให้เขาได้พัฒนาทักษะไปในตัว และยิ่งเขียนมาก ก็ยิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ แม้ AI จะช่วยเร่งงานได้ แต่การเรียนรู้ด้วยตัวเองนั้นมีค่ากว่าหลายเท่า

คุณเอเห็นด้วยกับประเด็นนี้ พร้อมกล่าวว่าแม้จะใช้ AI ช่วยคิด ช่วยทำงาน แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นในพลังของสมองมนุษย์ เชื่อในการทุ่มเทเขียนงานต่างๆ ด้วยตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ฝึกการคิด การใช้เหตุผล และทำให้เราแตกต่างไปจากหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์

AI: เพื่อนร่วมงานหรือคู่แข่ง?

ด้านคุณพลอย อนัญญา สหัสสะรังษี ผู้ก่อตั้ง Anunya Pa Learn เปิดประเด็นว่า ทุกวันนี้เธอใช้งาน AI เป็นเหมือน “เพื่อนร่วมงาน” ที่คอยช่วยเช็คงานและระดมไอเดีย AI เป็นเพียงตัวช่วยสร้างผลิตภัณฑ์และเร่งกระบวนการทำงานให้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่สุดท้ายเธอยังคงเป็นคนตัดสินใจหลัก ว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร ภายใต้ทิศทางไหน 

แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า AI ที่เป็นเพื่อนร่วมงานให้ข้อมูล ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง? คุณเอมีเทคนิคเด็ดนั่นคือการโยนข้อมูลที่ได้จาก AI แต่ละตัวให้มันตรวจสอบกันเอง เช่น หาข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่งผ่าน Grok แล้วเอาไปตรวจทานข้อมูลใน Perplexity พร้อมสั่งให้ตรวจสอบแหล่งอ้างอิงอีกที นี่คือวิธีที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ว่า ข้อมูลเหล่านั้นเชื่อถือได้ และนำไปใช้ต่อได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม มีผู้ถามว่าบางครั้ง AI กลับตอบคำถามง่ายๆ ผิดเหมือนกัน ถ้าเจอแบบนี้ควรทำอย่างไร ยังเชื่อถือข้อมูลของมันได้หรือไม่? แอดทอยไขข้อข้องใจนี้ว่า บางทีอาจเป็นเพราะเราเขียน Prompt สั่งงาน AI ไม่ชัดเจน ดังนั้นควรหมั่นฝึกเขียน Prompt หรือคำสั่งให้ชัดเจนขึ้น เราเขียนอธิบายพอหรือยัง ยกตัวอย่างชัดเจนพอแล้วหรือยัง หากทำทุกอย่างครบถ้วนแล้ว น่าจะช่วยให้คำตอบที่ได้ดีขึ้น ถูกต้องแม่นยำขึ้นแน่นอน

 

อยากใช้ AI ช่วยทำธุรกิจ แต่เราทำธุรกิจไปเพื่ออะไร?

เมื่อพูดถึงการเอา AI ไปช่วยทำธุรกิจ คุณพลอยเริ่มต้นด้วยการให้ทุกคนตั้งคำถามก่อนว่า “คุณทำธุรกิจไปเพื่ออะไร?” บางคนต้องการสร้างรายได้ บางคนอยากช่วยเหลือสังคม ฯลฯ จากนั้นค่อยถามต่อว่าจะใช้ AI เอามาช่วยธุรกิจอย่างไร เพราะหากปราศจากความเข้าใจพื้นฐานของการทำธุรกิจ ต่อให้มี AI เจ๋งแค่ไหนก็ไม่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ

อีกสิ่งที่แอดทอยเสริมก็คือ อย่าลืมออกไปคุยกับคนจริงๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าและบริการที่เราทำอยู่ เพราะการคุยกับคนเหล่านี้จะช่วยให้เราเจอ Insight ที่สำคัญมากๆ ต่อการทำธุรกิจ อย่ามัวแต่คุยกับ AI แต่ต้องพัฒนา Human Skill หรือทักษะการเข้าหาคน การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วย เพราะมันจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจแน่นอน

AI vs ลิขสิทธิ์

หัวข้อสุดท้ายที่พูดคุยกันในวันนี้คือเรื่อง AI vs ลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นประเด็นร้อนแรงที่กำลังสร้างความปวดหัวให้วงการ AI ทั่วโลก คุณเอเล่าว่า ในต่างประเทศ ผู้เอา AI มาสร้างคอนเทนต์ถูกฟ้องร้องบ่อยครั้ง เพราะนำงานของคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต บ่อยครั้งคนที่จะโดนฟ้องคือการนำรูปที่สร้างขึ้นจากใน Midjourney หรือ Stable Diffusion มาใช้ในทางพณิชย์ ซึ่ง 2 แพลตฟอร์มนี้สร้างรูปขึ้นมาโดยไม่มีการระบุที่มาของข้อมูลได้ชัดเจน

ส่วนแอดทอยเสริมว่า กฎหมายเกี่ยวกับ AI และลิขสิทธิ์ในแต่ละประเทศแตกต่างกัน เราทุกคนมีความเสี่ยงว่าอาจเอางานของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเสมอหากจะใช้ AI เพื่อการค้าจริงๆ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าโมเดล AI ที่ใช้นั้นเทรนจากข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ หนึ่งในข้อค้นพบก็คือ เรามักจะละเมิดแบบไม่รู้ตัวเสียอีก บางทีเห็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ฟ้อง ปล่อยผ่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรทำผิดกฎหมายตั้งแต่แรก

สุดท้ายนี้ คุณพลอยเสนอไอเดียเพิ่มเติมว่า ไม่แน่ในอนาคตอาจมีคนทำ AI Tools ที่ช่วยบอกว่า มีใครเอาผลงานของเราไปทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจช่วยให้คนทำงานสร้างสรรค์ไม่ต้องปวดหัวกับการโดนละเมิดอีกต่อไป แถมได้เงินค่าลิขสิทธิ์กลับมาเสียอีก ซึ่งเธอก็หวังว่าในอนาคตที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ จะมีเครื่องมือแบบนี้เกิดขึ้นให้เราได้ใช้งานกันจริงๆ ด้วยนะ

Moderated by: คุณ ธันยธร ทองวรานันท์ Community Manager, Digital Business & Technology จาก SCBX

ผู้เขียน:

SCBX contributor
SCBX contributor

More Insights for you

Stay up to date with our latest content

More Insights for you

Stay up to date with our latest content