AI for Doctors: Shaping the Future of the Medical Profession

: AI for Doctors: Shaping the Future of the Medical Profession

AI for Doctors: Shaping the Future of the Medical Profession

SCBX Unlocking AI Ep.11 - Elevate Your Game: AI Tools for Modern Works งานสัมมนา อนาคตวงการแพทย์: ถึงเวลาใช้ AI เพื่อยกระดับการรักษาผู้ป่วย

Key Highlights 

  • ในวงการแพทย์ AI ไม่ได้จำกัดเฉพาะแพทย์เท่านั้น: การใช้ AI ในการดูแลสุขภาพครอบคลุมถึงคนไข้ ผู้กำหนดนโยบาย และประชาชนทั่วไป ซึ่งทุกฝ่ายต้องมีความเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อปรับปรุงการดูแลสุขภาพและการรักษา
  • เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น: ทุกเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นมา ล้วนมีเป้าหมายที่การช่วยให้คนเกิดมากขึ้น ป่วยน้อยลง และจากไปอย่างสงบเสมอ
  • AI เป็นผู้ช่วย ไม่ใช่คู่แข่งของแพทย์: AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาโรคได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น โดยไม่แทนที่หมอ แต่จะช่วยให้หมอมีเวลามากขึ้นในการดูแลผู้ป่วยและตนเอง

หากคุณติดตามงาน SCBX Unlocking AI มาตลอด คุณคงคุ้นเคยกับการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์เป็นอย่างดี วงการนี้นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้เสมอ เพื่อยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บใหม่ ๆ ที่อาจอุบัติขึ้นได้ทุกเมื่อ

ในงาน SCBX Unlocking AI Ep.11- Elevate Your Game: AI Tools for Modern Works ได้รับเกียรติจาก นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ จาก Thai HealthTech Trade Association หรือหมอโอ มาบรรยายในหัวข้อ “AI for Doctors: Shaping the Future of the Medical Profession” เพื่อฉายภาพบทบาทของ AI ในการพลิกโฉมวงการแพทย์

สำหรับใครที่พลาดการบรรยายครั้งนี้ไป SCBX ขอสรุปสาระสำคัญมาฝากกันดังนี้

Keynote: AI for Doctors: Shaping the Future of the Medical Profession โดย นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ จาก Thai HealthTech Trade Association

ใครบ้างที่ใช้ AI ในการดูแลสุขภาพ?

หมอโอเล่าว่า การใช้ AI ในวงการแพทย์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่วงการนี้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องเกี่ยวข้องกับ AI อยู่หลายฝ่าย โดยหมอโอแบ่งกลุ่มออกมาได้เป็น 4 กลุ่มหลักๆ ดังต่อไปนี้

  1. บุคลากรทางการแพทย์ นำโดย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ สามารถใช้ AI เพื่อวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย
  2. คนไข้ แม้จะเป็นผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษา แต่รู้หรือไม่ว่าคนไข้เองสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลในการตรวจสุขภาพ และเพื่อดูแลตัวเองเบื้องต้นก่อนมาพบแพทย์ได้
  3. ผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) หน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกนโยบายด้านการแพทย์ พอ AI พัฒนาไปไกลมาก ผู้มีอำนาจสั่งการก็ต้องเข้าใจเทคโนโลยีนี้ให้มากขึ้นด้วย เพื่อที่จะจัดสรรงบประมาณและสนับสนุนการพัฒนาได้ถูกต้อง
  4. ประชาชนทั่วไป ไม่ได้มีแค่ผู้ป่วย แต่รวมถึงทุกคนสามารถใช้ AI ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้ง่ายขึ้น และมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเองได้มากขึ้น

นอกจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเยอะแล้ว หมอโอยังอธิบายอีกว่าเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ AI ในปัจจุบันนั้นสามารถแบ่งได้หลายแบบ เพื่อให้เหมาะกับผู้ใช้และสถานการณ์ต่างๆ โดยมีเกณฑ์ในการแบ่งได้หลายประการ แต่สามารถยกตัวอย่างได้คร่าวๆ ดังนี้

  • แบ่งประเภทตามผู้ใช้งาน แพทย์และคนไข้ย่อมใช้เครื่องมือแตกต่างกัน เช่น เครื่องมือวินิจฉัยโรคสำหรับแพทย์ vs เครื่องมือดูแลตัวเองเบื้องต้นสำหรับคนไข้
  • แบ่งประเภทตามสถานที่ใช้งาน เช่น หากเป็นโรงพยาบาล บ้าน หรือชุมชน แต่ละที่จะมีเครื่องมือเฉพาะทางแตกต่างกันไปในการดูแลรักษาผู้ป่วย
  • แบ่งตามช่วงอายุ เช่น เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ล้วนมีความแตกต่างกัน เครื่องมือที่ใช้สำหรับการรักษาก็ต้องแตกต่างกันด้วย
  • ตามระดับสุขภาพ แบ่งเป็นกลุ่มคนสุขภาพดี กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย

และเมื่อรู้ว่าใครที่สามารถใช้งานเทคโนโลยีนี้ได้ แต่ละเทคโนโลยีเหมาะสำหรับคนกลุ่มใดบ้าง จะช่วยให้สามารถเลือกใช้เครื่องมือ และวิธีที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วย และยกระดับแวดวงสาธารณสุขได้มากขึ้นตามมา

 

เทรนด์ด้าน Digital Health ที่น่าจับตา

หมอโอเล่าว่า ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา เราเห็นการเอา AI มาใช้งานมากขึ้น โดยเทคโนโลยีที่ฮิตสุด ๆ ในวงการแพทย์คือ Chatbot ตามมาด้วยการวิจัยด้านอายุยืน (Longevity Research) 

แต่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนหรือแพทย์สาขาใด หมอโอสรุปใจความได้ว่า ทุกเครื่องมือที่พัฒนามักมุ่งเป้าไปที่การทำให้คนเกิดมากขึ้น ป่วยน้อยลง และจากไปอย่างสงบ เป็นงานหลักๆ

แต่หมอโอก็ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ท่ามกลางความตื่นตัวในเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่ Female Tech หรือเทคโนโลยีการแพทย์สำหรับผู้หญิงกลับยังมีปริมาณน้อย และไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนเพียงพอ ทั้งที่ประชากรผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย โดยเงินทุนส่วนใหญ่ถูกนำไปลงทุนในโครงการที่ไม่เกี่ยวกับผู้หญิง 

หากในอนาคตวงการแพทย์ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสายนี้มากขึ้น จะเกิดเป็นเทรนด์ใหม่ สร้างความแตกต่างใหม่ๆ ให้ในระดับประเทศ และในระดับโลกอย่างแน่นอน

แอปพลิเคชัน AI สุดเจ๋งสำหรับหมอยุคใหม่

งานของหมอในแต่ละวันของหมอเยอะมาก ทุกเช้าต้องตรวจผู้ป่วย ดูอาการคนไข้มากมายหลายร้อยคน ไหนจะต้องทำวิจัย ประชุม และอยู่เวร แต่เวลาแต่ละวันกลับมีจำกัดแค่ 24 ชั่วโมง

หากเป็นเมื่อก่อนที่ยังไม่มีเครื่องมือช่วยงานก็ต้องทำงานตามรูทีนแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่พอมี AI ให้ใช้เป็นเครื่องมือ ผลที่เกิดขึ้นก็คือหมอสามารถทำงานทั้งหมดได้เสร็จเร็วขึ้นหลายเท่า โดย AI ที่หมอโอเคยใช้งานจริง แล้วขอแนะนำให้ทุกคนเอาไปลองปรับใช้กับงานของตัวเอง เพื่อลดเวลาในการทำงานมีคร่าวๆ ดังนี้ 

  1. Perplexity GenAI ที่สามารถกลายเป็นผู้ช่วยวินิจฉัยโรคได้สุดละเอียด พร้อมข้อมูลอ้างอิงน่าเชื่อถือ คุยต่อเนื่องได้ สร้างตารางได้ ช่วยให้ตรวจคนไข้ตอนเช้าเร็วปรี๊ด!
  2. Consensus โปรแกรมที่ช่วยค้นหาข้อมูลและตอบคำถามเกี่ยวกับการรักษาด้วยการถามเพียงแค่ Yes/No คำตอบที่ได้จะอ้างอิงงานวิจัยที่สืบค้นได้จริง และสามารถค้นรายละเอียดเพิ่มเติมได้ง่ายขึ้น
  3. SciSpace ตัวช่วยสรุปงานวิจัยแบบจัดเต็ม ถ้ามีงานวิจัย 10 ชิ้น ก็สรุปได้ครบ 10 ชิ้นในเวลารวดเร็ว สามารถออกคำสั่งให้ทำตารางเปลี่ยนเทียบได้ง่าย ช่วยประหยัดเวลาทบทวนวรรณกรรมได้มหาศาล
  4. Connected Paper ตัวช่วยเชื่อมโยงงานวิจัยต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่างานไหนเกี่ยวข้องกับงานของเรา และมีการทำ Visualization สวยๆ ให้มองเห็นความเชื่อมโยงของทุกงานที่อาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนด้วย
  5. AfforAI โปรแกรมที่เพียงแค่อัปโหลด PDF เข้าไป จะช่วยให้เราสามารถคุยกับเอกสารเหล่านั้นได้โดยตรง ช่วยลดเวลาอ่านและสรุปข้อมูลได้เยอะมาก

AI ไม่ได้มาแทนที่ แต่มาเพิ่มพลังให้หมอ

ไม่ต่างกับวิทยากรท่านอื่น ผู้ประกอบอาชีพอื่น หมอโอ เล็งเห็นพลังของ AI ว่ามีมหาศาล แต่เขาเชื่อสุดใจว่ามันจะไม่ได้เข้ามาแย่งงานหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์แต่อย่างใด

ตรงกันข้าม มันจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้หมอวินิจฉัยและรักษาคนไข้ได้เร็วและแม่นยำขึ้น ทั้งยังช่วยลดภาระงานบางส่วน เพื่อให้หมอมีเวลาดูแลตัวเองและคนไข้มากขึ้น ช่วยให้คนเกิดใหม่มากขึ้น ป่วยน้อยลง และตายอย่างสงบกว่าเดิมได้

การพัฒนา AI ในวงการแพทย์เป็นเรื่องท้าทาย และยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีกมาก และเขาเชื่อว่าอีกไม่นานจะยิ่งมีเครื่องมือที่มีศักยภาพสูง มาช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพให้ก้าวไกล และช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ผู้เขียน:

SCBX contributor
SCBX contributor

More Insights for you

Stay up to date with our latest content

More Insights for you

Stay up to date with our latest content