AI-Powered Success: Turning Ideas Into Marketable Products for Solopreneurs

: AI-Powered Success: Turning Ideas Into Marketable Products for Solopreneurs

AI-Powered Success: Turning Ideas Into Marketable Products for Solopreneurs

SCBX Unlocking AI Ep.11 - Elevate Your Game: AI Tools for Modern Works. งานสัมมนาเครื่องมือทรงพลังสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ

Key Highlights

  • รู้แค่ AI ไม่เพียงพอในการทำธุรกิจให้สำเร็จ: การมี AI เป็นเครื่องมือไม่ได้การันตีความสำเร็จในธุรกิจ คุณต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ก่อนจะหาแนวทางในการขายและขยายธุรกิจต่อไป
  • ลองทำเองก่อน อย่าเชื่อ AI 100%: การใช้ AI ช่วยทำงานเป็นเรื่องดี แต่ควรตรวจสอบความถูกต้องเสมอ เพราะ AI ยังมีข้อจำกัดและอาจทำผิดพลาดได้
  • ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองให้เป็น :AI เป็นเพียงตัวช่วยในการคิดและผลิตงาน แต่ความคิดสร้างสรรค์ของคุณเองจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าและมีเอกลักษณ์

Keynote: AI-Powered Success: Turning Ideas Into Marketable Products for Solopreneurs by คุณพลอย อนัญญา สหัสสะรังษี ผู้ก่อตั้ง Anunya Pa Learn

ทุกยุคทุกสมัย มีคนจำนวนมากอยากเป็นผู้ประกอบการและอยากสร้างธุรกิจเป็นของตนเองเสมอ ว่ากันว่ายุคปัจจุบันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดแล้วสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างธุรกิจของตัวเองให้ประสบความสำเร็จ เพราะมีเครื่องมือและเทคโนโลยีล้ำๆ ให้ใช้มากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งถือเป็นตัวช่วยที่ทรงพลังอย่างยิ่ง

ในการบรรยายหัวข้อ “AI-Powered Success: Turning Ideas Into Marketable Products for Solopreneurs” ที่จัดขึ้นในงาน SCBX Unlocking AI Ep.11 – Elevate Your Game: AI Tools for Modern Works คุณพลอย อนัญญา สหัสสะรังษี ผู้ก่อตั้ง Anunya Pa Learn และผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ ได้มาแชร์ประสบการณ์ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาที่เธอนำ AI มาใช้ในธุรกิจของเธอ รวมถึงบทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการใช้งานจริงแทบทุกขั้นตอน

ใครพลาดการบรรยายหัวข้อนี้ไป SCBX สรุปสาระสำคัญมาให้อ่านกันแล้วดังต่อไปนี้

จัดประเภทผู้ใช้งาน AI ใช้เยอะแค่ไหนก็มีแค่ 3 แบบเท่านั้น 

จากประสบการณ์ของคุณพลอย ผู้เคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจที่หลากหลายมาก่อน ใช้เครื่องมือที่หลากหลายทั้งดิจิทัลและไม่ดิจิทัล เธอพบว่า พอมีเครื่องมืออย่าง AI ถือกำเนิดและได้รับความนิยมมากขึ้น จะมีผู้ที่นำ AI มาใช้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  1. กลุ่มปฏิเสธการใช้งาน (Denial): กลุ่มนี้รู้ว่ามี AI อยู่ แต่ยังมองไม่เห็นประโยชน์ในการใช้งาน หรือคิดว่าใช้แล้วยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา
  2. กลุ่มตื่นตระหนก (Panic): คนกลุ่มนี้มีความสนใจใน AI มาก พยายามศึกษาและเข้าฟังการเสวนาเกี่ยวกับ AI ทุกงานเท่าที่จะมี แต่ยิ่งฟังก็ยิ่งมีความกังวลว่าจะเอา AI มาใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไปจนถึงกลัวว่ามันอาจมาแย่งงานหรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพตัวเองในท้ายที่สุด
  3. กลุ่มที่เปิดใจใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ (Positive): คนในกลุ่มนี้สามารถนำ AI มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างผลงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างแท้จริง

ถอดบทเรียนการใช้ AI สร้างธุรกิจตั้งแต่ต้นจนจบ

คุณพลอยแชร์ประสบการณ์การทำงานก่อนจะที่โลกจะใช้ AI อย่างแพร่หลายว่า ที่ผ่านมาเธอเบื่อมากๆ กับการคุยกับคน กับการต้องประชุม ประชุม และประชุมอย่างเดียว พอเธอเจอเครื่องมืออย่าง AI ก็ทำให้คิดว่า น่าจะเป็นตัวช่วยที่ดี เป็นมือขวาในการทำงานให้สำเร็จได้ และทำให้เธอไม่ต้องพบเจอคนจนวุ่นวายอีกแล้ว ซึ่งถามว่ามันช่วยได้จริงไหม คำตอบคือช่วยได้จริงดังต่อไปนี้

  1. ใช้ AI คิดไอเดียใหม่ๆ: ให้ออกความคิดว่าจะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากศูนย์ หรือจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมให้ดีขึ้นได้อย่างไร ไปจนถึงการช่วยคิดว่าจะหาลูกค้า ทำให้การทำงานง่ายและรวดเร็วขึ้น
  2. AI เป็นเหมือนเพื่อนร่วมงานที่ฉลาด: การใช้ AI เปรียบเสมือนการมี อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือคนเก่งๆ มีความรู้ความสามารถคอยให้คำแนะนำ ช่วยให้งานออกมาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม AI ก็มีขีดจำกัดเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ดังนั้นเมื่อเราได้รับความแนะนำจากมันแล้ว ก็ต้องรู้เท่าทันและตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะนำมาใช้งานด้วย มิฉะนั้นอาจมีข้อมูลผิดหลุดรอดออกมา
  3. AI แต่ละเครื่องมือ มีหลักการใช้งานแตกต่างกัน: AI Tools แต่ละอย่างมีความเชี่ยวชาญ ความฉลาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความง่ายในการใช้งาน ความรวดเร็ว และราคาที่แตกต่างกัน ต้องเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับ ‘ปัญหาทางธุรกิจ’ และความต้องการของเราของเราเสมอ 

แต่ก่อนจะเอา AI มาใช้สร้างธุรกิจ คุณพลอยยังเตือนด้วยว่า แค่มี AI ไม่ได้การันตีความสำเร็จเสมอไป เพราะอย่าลืมว่าสิ่งสำคัญกว่าของการทำธุรกิจคือ ต้องเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพก่อน จากนั้นจึงหาวิธีการขายสินค้า และสุดท้ายคือการขยายสเกลทางธุรกิจ 

และหากสิ่งของที่นำมาขายไม่ได้คุณภาพตั้งแต่ต้น แม้จะหาวิธีขายจนทำกำไรมหาศาล ก็จะเป็นแค่การโชคดีเพียงครั้งเดียว ที่ไม่นำไปสู่ความยั่งยืน

กรณีศึกษา ใช้ AI ช่วยเขียน e-Book สร้างรายได้นับล้าน

คุณพลอยยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากมายว่า AI สามารถช่วยทำธุรกิจได้จริง หนึ่งในนั้นคือการใช้ AI เพื่อช่วยเขียนและขาย e-Book จนสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ โดยกระบวนการในการสร้าง e-Book ผ่านการใช้ AI มีขั้นตอนดังนี้:

  1. เริ่มจากการหาหัวข้อที่น่าสนใจก่อนว่าอยากเขียนเรื่องอะไร
  2. เมื่อรู้ประเด็นที่อยากเขียน ก็ใช้ ChatGPT ช่วยหาข้อมูล เขียน และเรียบเรียง
  3. พิสูจน์อักษรและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบ่อยๆ
  4. หากอยากพิมพ์หนังสือขายด้วย ให้ใช้บริการแพลตฟอร์ม Amazon KDP ในการขายและพิมพ์หนังสือ ซึ่งสะดวกกว่าการที่เราต้องไปติดต่อโรงพิมพ์เอง และวิธีนี้จะเสียเงินน้อยกว่าด้วย
  5. โปรโมตผ่านการโฆษณา

ทั้งนี้ กรณีที่คุณพลอยยกตัวอย่างมานั้น เธอยืนยันว่าเนื้อหาของ e-Book ที่ขายจะต้องมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเพื่อให้สร้างยอดขายได้ในระยะยาว

และถึงเราจะไว้วางใจให้ AI ช่วยเขียน แต่ก็ต้องตระหนักเสมอว่า มันไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์แบบ ยังจำเป็นต้องตรวจทานข้อมูลอยู่เสมอ ทำให้ในขั้นตอนที่ 33 เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากๆ และเป็นจุดที่จะแยกระหว่าง e-Book ที่ใช้ AI เขียนแบบแย่ๆ กับเขียนได้ดีอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อควรระวังในการใช้ AI ในธุรกิจ

แม้ AI จะเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพ แต่การนำ AI มาใช้งานอย่างไม่เข้าใจจริง อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

คุณพลอยเน้นย้ำว่า AI ไม่ได้เหมาะสำหรับกับทุกคน หากใช้งานโดยไม่มีความเข้าใจเพียงพอ ก็เปรียบเสมือนการให้หัวหน้าที่ไม่เชี่ยวชาญมาตรวจงานของลูกน้องที่เก่งกว่า แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่มีทางดีอย่างที่คาดหวังแน่นอน

ท้ายที่สุด AI เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจ ความสำเร็จในการใช้ AI ขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจในตัวเทคโนโลยี และความสามารถในการนำข้อมูลมาปรับใช้ได้อย่างถูกต้อง มิฉะนั้นต่อให้มีเครื่องมือที่ล้ำหน้าแค่ไหน ก็จะไม่มีทางทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้เลย

ผู้เขียน:

SCBX contributor
SCBX contributor

More Insights for you

Stay up to date with our latest content

More Insights for you

Stay up to date with our latest content