SCBX กับเส้นทางสู่การเป็นผู้นำด้านการเงินสีเขียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

: SCBX กับเส้นทางสู่การเป็นผู้นำด้านการเงินสีเขียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

SCBX กับเส้นทางสู่การเป็นผู้นำด้านการเงินสีเขียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Banking a transitioning Asia: Digital dollars and green sense ณ งาน Singapore FinTech Festival 2024

การเสวนาภายใต้หัวข้อ “Banking a transitioning Asia: Digital dollars and green sense” ณ งาน Singapore FinTech Festival 2024 คุณดาลัด ตันติประสงค์ชัย Chief Operating and International Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ได้กล่าวถึงแนวทางที่กลุ่มธุรกิจการเงินที่เก่าแก่ที่สุดของไทยกำลังปรับตัวเพื่อเป็นผู้นำด้านการเงินสีเขียวในระดับภูมิภาค

ประเทศไทยกำลังเติบโตและก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SCBX ซึ่งเป็นกลุ่มการเงินที่มีอายุยาวนานกว่า 117 ปี กำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากนวัตกรรมดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศ

“เมื่อประมาณสองปีครึ่งที่ผ่านมา เราได้ตัดสินใจเชิงโครงสร้างในการจัดตั้ง SCBX เป็นบริษัทโฮลดิ้ง เราได้นำธนาคารไทยพาณิชย์มาอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินนี้” คุณดาลัด อธิบาย “ส่วนหนึ่งของแนวคิดพื้นฐาน คือ การมองหากรอบการเติบโตใหม่ หรือ S-Curve ที่ตอบสนองต่อแนวโน้มระดับโลกที่กำลังมาบรรจบกัน โดยประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศได้ถูกระบุให้เป็นหนึ่งในสามเสาหลักเชิงกลยุทธ์ของเรา”

บทบาทสองด้าน: ความยั่งยืนภายในองค์กร และพันธกิจเชิงกลยุทธ์ในการเป็น “Climate Orchestrator” ชั้นนำในระดับภูมิภาค

กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของ SCBX มีสองมิติ คือ การสร้างความยั่งยืนภายในองค์กร และการใช้มิติด้านสภาพภูมิอากาศเป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าให้แก่บริษัทในเครือและลูกค้า “เราตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนภายในองค์กร” คุณดาลัด กล่าว “นอกจากนี้ เรายังมองว่าด้านสภาพภูมิอากาศ คือ โอกาสทางธุรกิจที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว”

กลยุทธ์ของ SCBX ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการดำเนินงานภายใน แต่ยังมีบทบาทในฐานะ “ผู้ประสานความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ”

ในฐานะกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรามีมุมมองที่จะช่วยขับเคลื่อนและเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลากหลายภาคส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศให้มาร่วมแก้ปัญหา ยกระดับโซลูชัน ตลอดจนการระดมทุนและการลงทุนที่จำเป็น ไม่เพียงเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านระบบนิเวศสีเขียวแห่งอาเซียน แต่ยังเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ

การบริหารความเสี่ยงผ่านความร่วมมือ

ในการจัดการกับความท้าทายด้านการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณดาลัด เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงและความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

“การบริหารความเสี่ยงเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งในชีวิตการทำงานและการตัดสินใจทางธุรกิจ และในฐานะนักการเงิน DNA ของเรา คือ ความรอบคอบในการบริหารความเสี่ยง

SCBX ใช้กลยุทธ์ดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่ามาร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นในภาคยานยนต์ไฟฟ้า ความมั่นคงทางอาหาร หรือพลังงานหมุนเวียน คุณดาลัด กล่าวว่า “คุณจำเป็นต้องปรับและประสานผลประโยชน์ของผู้มีบทบาทสำคัญเหล่านี้ให้สอดคล้องกัน” พร้อมเน้นย้ำถึงบทบาทของธนาคารในฐานะผู้เล่นที่เป็นกลางในการประสานความร่วมมือเหล่านี้

 

ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับภาครัฐ

กลุ่ม SCBX มีบทบาทเชิงรุกในการช่วยกำหนดนโยบายระดับประเทศ โดยได้ร่วมมือกับ McKinsey ในการจัดทำแผนแม่บท Green Growth Master Plan สำหรับประเทศไทย

“เราได้ร่วมกันศึกษาภายในกับ McKinsey เพื่อช่วยรัฐบาลพิจารณาว่าแผนแม่บท Green Growth Master Plan ของประเทศไทยควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร และประเทศไทยจะมีบทบาทในระดับภูมิภาคและในประเทศอย่างไร เพื่อยกระดับตัวเองให้เป็นศูนย์กลางและตัวเร่งในระบบนิเวศสีเขียวได้อย่างไร” คุณดาลัด กล่าว

การจัดการกับความท้าทายในการดำเนินการ

หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่ SCBX ระบุ คือ การประเมินและจัดหาเงินทุนสนับสนุนสำหรับโครงการด้านสภาพภูมิอากาศขนาดใหญ่ คุณดาลัด อธิบายว่า “ธนาคารแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาล และโครงการด้านสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่มีลักษณะเช่นนี้”

เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ SCBX มุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถภายในเพื่อระบุและจัดลำดับความสำคัญของโครงการ พร้อมทั้งพัฒนาโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงรูปแบบใหม่ และสร้างสภาพคล่องในตลาดผ่านระบบนิเวศของนักลงทุนที่มีความหลากหลายในด้านระดับความเสี่ยงและความต้องการเงินทุน

กลยุทธ์ของ SCBX สะท้อนถึงแนวทางที่ครอบคลุมด้านการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจกลายเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะสถาบันที่ต้องเผชิญกับความท้าทายสองด้าน ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศ

ผู้เขียน:

Piyaporn Thipsoonthornsak,
Piyaporn Thipsoonthornsak,Senior Corporate Branding and Media Management Expert

More Insights for you

Stay up to date with our latest content

More Insights for you

Stay up to date with our latest content